วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

ม.อ. ขอเชิญร่วมงานสัมมนา “หาดใหญ่เข้มแข็ง..สู้ภัยน้ำท่วม” ครั้งที่ 4 เพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงในการแก้ปัญหาระยะยาว

ม.อ. ขอเชิญร่วมงานสัมมนา "หาดใหญ่เข้มแข็ง..สู้ภัยน้ำท่วม" ครั้งที่ 4 เพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงในการแก้ไขปัญหาระยะยาว
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) ร่วมกับ คณะกรรมการเครือข่ายสหวิทยาการแห่งราชบัณฑิตยสถานภาคใต้ สำนักประสานงานชุดโครงการ "การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนกลาง" สกว. มูลนิธิชุมชนสงขลา และ โครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะจัดโครงการสัมมนา "หาดใหญ่เข้มแข็ง..สู้ภัยน้ำท่วม" ครั้งที่ 4 ในวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2555 ที่ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อขยายผลระบบการจัดการและระบบปฏิบัติการรับมือภัยพิบัติในเขตลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา สู่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ในจังหวัดสงขลา หรือ จาก Hat Yai Model เป็น Songkhla Model เพื่อขับเคลื่อนการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ด้านการแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการระดมสมองเพื่อให้ได้ข้อมูลจากทุกภาคส่วน สู่แนวทางการแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมในจังหวัด และ ให้เป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับประเทศ กิจกรรมจะประกอบไปด้วย การเสวนาเรื่อง "กลไกการจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการ Hat Yai Model" "กลไกการปฏิบัติการภาคประชาชนของลุ่มน้ำอู่ตะเภา" "การระดมความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะเพื่อถอดบทเรียนจากการปฏิบัติสู่การจัดการและการขยายผลสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ (เพื่อมุ่งหวังให้เป็น Songkhla Model)" และ "การจัดทำกรอบการวิจัยจากปัญหาของพื้นที่" และ จัดนิทรรศการ การให้ความรู้ในเรื่องการเตรียมตัว เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์น้ำท่วม การแสดงผลงานจากการวิจัยและพัฒนาของโครงการวิจัย ภายใต้ MOU ม.อ. - สกว. ตัวอย่างงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ทำสำเร็จแล้ว การจัดสัมมนาครั้งนี้ จะนำบทเรียนของลุ่มน้ำอู่ตะเภาที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันรับมือน้ำท่วม เมื่อต้นปี พ.ศ. 2555 ตามแผนปฏิบัติการ Hat Yai Model เพื่อให้ทุกภาคส่วนจากลุ่มน้ำอื่นได้เห็นระบบการจัดการที่มีคณะกรรมการจัดการภัยน้ำท่วมลุ่มน้ำอู่ตะเภา คณะกรรมการย่อยชุดต่าง ๆ รวมทั้งศูนย์จำลองปริมาณน้ำท่า หรือศูนย์วิจัยภัยพิบัติที่นักวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้บริหารศูนย์ฯ ซึ่งสามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำเพื่อการเตือนภัยแก่คณะกรรมการประเมินสถานการณ์น้ำ ที่ได้กระจายข้อมูลสู่สื่อต่าง ๆ อย่างถูกต้องและเป็นระบบเพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง ในการแก้ปัญหาระยะยาว จะเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางกายภาพเพื่อป้องกันน้ำท่วม การสร้างความเข้มแข็งให้สังคมของหน่วยงานที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ ยังมีการถอดบทเรียนจากการแก้ปัญหาน้ำท่วมของกลุ่ม/ชุมชนตัวอย่าง และกลุ่ม/ชุมชนทั่วไปทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดสงขลาเพื่อให้ภาคส่วนอื่น ๆ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน โดยเฉพาะนักวิชาการในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงที่สนใจทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ จะได้มีข้อมูลสำหรับการพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยในการแก้ปัญหาน้ำท่วม จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมงานได้ในวันเวลาดังกล่าว